นอนดึกเป็นประจำ เครียดก่อนนอน หรือเปิดไฟนอน การกระทำเหล่านี้อาจมีใครหลายๆคนที่ทำเป็นประจำ แต่รู้หรือไม่ ว่าทำแบบนี้บ่อยๆ เสี่ยงที่จะทำให้นาฬิกาชีวิตของเราพัง!!! แต่ถ้านาฬิกาชีวิตพังไปแล้วก็ไม่ต้องเครียดไป เพราะเรามีวิธีรับมือมาบอกทุกคนกัน!!!
สวัสดี เราคือนาฬิกาชีวิต รู้หรือไม่ ในร่างกายของทุกคนมีนาฬิกาชีวิตอยู่นะ ว่าแต่นาฬิกาชีวิตคืออะไรกันนะ?
Suprachiasmatic Nucleus (SCN) หรือก็คือนาฬิกาชีวิต อยู่ในสมองของเรา ตรงบริเวณหน้าผากใกล้กับดวงตา หรือถ้าจะให้ระบุชัดเจนไปอีกนิด ก็คืออยู๋ในสมองส่วนไฮโพทาลามัสนั่นเอง
ในตอนกลางวันเจ้านาฬิกาชีวิตจะทำการปลุกเราเมื่อมีแสงสว่างมากระทบกับจอประสาทตา จากนั้นก็จะส่งข้อมูลไปยัง Suprachiasmatic Nucleus หรือก็คือนาฬิกาชีวิต และจากนั้นมันจะทำการปลุกร่างกายของเราให้เริ่มทำงาน
ส่วนตอนกลางคืนนาฬิกาชีวิตก็ยังทำงานต่อ โดยเมื่อแสงสว่างลดลง Suprachiasmatic Nucleus จะสั่งการให้ต่อมไพเนียลสร้างเมลาโทนินเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายนอนหลับ
และนอกจากควบคุมเรื่องการนอนหลับและการตื่นแล้ว นาฬิกาชีวิตยังมีหน้าที่อย่างออื่นอีกนะ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ควบคุมระบบการย่อยอาหาร หรือแม้กระทั่งควบคุมระบบการหลั่งฮอร์โมน
และด้วยหน้าที่ของนาฬิกาชีวิตทั้งหมดที่กล่าวมา มันส่งผลกับร่างกายของเรายังไงบ้างล่ะ? เนื่องด้วยหน้าที่หลักๆก็การควบคุมการตื่นและการนอน นาฬิกาชีวิตจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดเวลาที่เหมาะสมในการทำกิจกรรมต่างๆของร่างกายเลยล่ะ
ด้วยหน้าที่ที่ต้องควบคุมทั้งการนอนหลับ การตื่น รวมทั้งอะไรอีกหลายๆอย่าง ทำให้นาฬิกาชีวิตของเรานั้นทำงาน 24 ชั่วโมงแบบไม่ได้หยุดพักเลย ซึ่งเราก็ควรที่จะถนอมนาฬิกาชีวิตของเราด้วย เพราะถ้าไม่มีนาฬิกาชีวิตจะต้องแย่แน่ๆ แล้วนิสัยแบบไหนบ้างล่ะ ที่เราควรหลีกเลี่ยง เพื่อรักษานาฬิกาชีวิตของเรา
นิสัยหลายๆอย่างที่เราทำกันจนชิน ด้วยคิดว่าไม่น่าจะส่งผลอะไรแต่จริงๆแล้วมันมีผลกระทบแฝงอยู่นะ
- การนอนดึก การนอนดึกเป็นสิ่งที่หลายๆคนทำเป็นประจำ แต่รู้มั้ยว่าการนอนดึกการฝืนเวลานอนที่ถูกกำหนดไว้ ยังไงลองเข้านอนเร็วขึ้นซักหน่อยก็ดีนะ
- เครียดก่อนนอน เอ๊ะ ความเครียดจะไปเกี่ยวกับการนอนยังไงนะ? ก็เพราะเวลาที่เราเครียด จะทำให้เราฟุ้งซ่านคิดนู่นนี่ไปเรื่อย ทำให้เราเกิดอาการนอนไม่หลับได้นะ
- การทานมื้อดึก ก็ความหิวมันห้ามกันไม่ได้ แต่การทานมื้อดึกทำให้คุณต้องรออาหารย่อย ซึ่งกว่าอาหารจะย่อยก็คงจะเลยเวลานอนไปแล้วล่ะ
- เปิดไฟนอน อย่างที่เคยกล่าวเอาไว้ด้านบน ว่านาฬิกาชีวิตจะสั่งให้ต่อมไพเนียลสร้างเมลาโทนินเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายนอนหลับในเวลาที่แสงสว่างลดลง ถ้าเราเปิดไฟนอนก็จำทำให้แสงไฟไปรบกวนฮอร์โมนเมลาโทนินได้
แล้วเราจะรู้ได้ยังไงล่ะ ว่านาฬิกาชีวิตของเรากำลังจะพัง ลองสังเกตดูง่ายๆ ถ้าหากคุณมีอาการ ง่วงตลอดทั้งวัน นอนไม่หลับ หรือหลับต่อยากเมื่อตื่นขึ้นมากลางดึก อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่า นาฬิกาชีวิตของคุณใกล้พังแล้วนะ!!!
พังได้ก็ซ่อมได้! นาฬิกาชีวิตของเราสามารถฟื้นฟูมาให้ดีเหมือนเดิมได้ ถ้าหากคุณปรับนิสัยเล็กๆน้อยๆของตัวเอง
- ควบคุมแสงในห้องนอน เมื่อถึงเวลาเข้านอนให้คุณปิดไฟ และห้ามใช้สมาร์ทโฟนด้วยนะ
- อดอาหาร 16 ชั่วโมง ให้คุณทานอาหารช่วง 4 โมงเย็น และไม่ทานอะไรเลยจนกว่าจะถึงช่วง 8 โมงเช้าของอีกวัน
- ลองออกไปตั้งแคมป์ การออกไปตั้งแคมป์จะทำให้คุณจำเป็นที่จะต้องเข้านอนและตื่นตามเวลาธรรมชาติอย่างเลี่ยงไม่ได้
- ฝืนไม่นอน 1 คืน หรือจะเป็นสายหักดิบ ลองฝืนไม่นอนไปเลย เพื่อให้ร่างกายเจอกับภาวะขาดการนอนหลับ และให้ร่างกายต้องการพักผ่อนในวันถัดไป
- ให้ร่างกายปรับเวลา หรือจะค่อยๆเป็นค่อยๆไป ค่อยๆปรับเวลาไปทีละนิด ให้เข้านอนเร็วขึ้นเรื่อยๆอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน จนถึงเวลานอนที่คุณต้องการ
เมื่อเรารู้แล้วว่านาฬิกาชีวิตนั้นสำคัญกับเราขนาดไหน ต่อไปนี้ก็อย่าปล่อยให้นาฬิกาชีวิตพังอีกล่ะ เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณเอง!
———————————–
Infographic Thailand รับผลิต Infographic / Motion graphic / Presentation / อบรม Infographic และ ผลิต Infographic ด้วยเทคนิคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น AR VR 360 กรอกรายละเอียดบอกเราได้ที่ http://bit.do/sleepforgoodhealth
แสดงความคิดเห็น